ผ้าป่าธรรมชัย วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2555 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ผ้าป่าธรรมชัย วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2555

ผ้าป่า คือ ผ้าที่ผู้ถวายนำไปวางพาดไว้บนกิ่งไม้เพื่อให้พระชักเอาไปเอง โดยไม่มีการกล่าวคำถวาย หรือมีการประเคน เหมือนการถวายสิ่งของแด่พระภิกษุโดยทั่วไป “ผ้าป่า” เรียกดังนี้ เพราะถือคติโบราณ กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่มีคนทิ้งไว้ตามป่าช้าบ้าง ตามทางเดินในป่าบ้าง มาทำจีวรนุ่งห่ม ผู้ใจบุญในสมัยนั้นจึงนิยมนำผ้าไปแขวนไว้ตามต้นไม้ข้างทางที่พระภิกษุเดินผ่าน ทำนองว่าทิ้งแล้วเมื่อพระภิกษุไปพบเข้าจึงหยิบไปทำจีวร โดยถือว่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ จึงเรียกผ้าดังกล่าวว่า “ผ้าป่า” ส่วนกริยาที่พระภิกษุหยิบผ้าป่าไปใช้ เรียกว่า “ชักผ้าป่า” คำว่า "ผ้าป่า" มีชื่อเรียกตามภาษาบาลีว่า ปํสุกุล อ่านว่า "ปังสุกุละ" ภาษาไทยใช้คำว่า "บังสุกุล" หมายถึง ผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน หรือผ้าที่เขาไม่ใช้แล้วนำไปทิ้งที่กองขยะ หรือผ้าที่เขาใช้ห่อศพแล้วนำไปทิ้งไว้ในป่าช้า

การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติรวบรวมปัจจัยเป็นบริวารผ้าป่า คล้ายกับการทอดกฐิน แต่ไม่มีข้อจำกัดด้วยเงื่อนเวลา กล่าวคือ สามารถทำได้ทุกฤดูกาล ทำได้ตลอดทั้งปี และในแต่ละปี วัดนั้นๆจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้ หรือผู้มีจิตศรัทธาปรารถนาจะทำเมื่อใด ย่อมทำได้ตามกำลังศรัทธา ซึ่งอาจจะผสมผสานหรือผนวกเข้ากับเทศกาลประเพณีประจำท้องถิ่นอื่นๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันของการทอดผ้าป่าและการทอดกฐิน คือ เป็นสังฆทาน ไม่เฉพาะเจาะจงถวายแด่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงถือเป็นทานที่มีอานิสงส์มาก ในปัจจุบัน การทอดผ้าป่า นิยมทำในรูปแบบที่แตกต่างกันไป จึงมีชื่อเรียกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1.ผ้าป่าหางกฐิน หรือ ผ้าป่าแถมกฐิน ได้แก่ ผ้าป่าที่จัดให้มีขึ้นต่อจากการทอดกฐิน กล่าวคือ เมื่อทำพิธีทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็จะให้มีการทอดผ้าป่าด้วย

2.ผ้าป่าโยง ได้แก่ ผ้าป่าที่จัดทำรวมๆกันหลายกอง นำบรรทุกเรือแห่ไปทอดตามวัดต่างๆที่อยู่ริมแม่น้ำ จึงเรียกว่า ผ้าป่าโยง จะมีเจ้าภาพเดียวหรือหลายเจ้าภาพก็ได้

3.ผ้าป่าสามัคคี ได้แก่ ผ้าป่าที่มีการแจกฎีกาบอกบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันทำบุญ โดยจัดเป็นกองผ้าป่ามารวมกัน ไม่จำกัดจำนวน เมื่อถึงวันทอดผ้าป่าจะมีขบวนแห่ผ้าป่ามารวมกันที่วัด บางโอกาสจัดขึ้นเพื่อร่วมกันหาเงินสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์, วิหาร, ศาลาการเปรียญ เป็นต้น

เนื่องในวโรกาสวันขึ้นปีใหม่ วัดพระธรรมกาย ได้จัด พิธีทอดผ้าป่าธรรมชัย สร้างทุกสิ่ง ในวันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2555 ตามกำหนดการ ดังนี้ เวลา 6.30 น. พิธีตักบาตรพระ เวลา 9.30 น. พิธีบูชาข้าวพระ, ปฏิบัติธรรมร่วมกัน และ ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน เวลา 15.00 น. พิธีทอดผ้าป่าธรรมชัย สร้างทุกสิ่ง (เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธ กรุณาสวมชุดขาวมาร่วมพิธี) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-831-1000 หรือติดต่อผู้ประสานงานภาคที่ท่านสังกัด

อานิสงส์บุญทอดผ้าป่า

1.ทำให้มั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์สมบัติ

2.ทำให้ประสบความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน

3.ทำให้เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ พบเจอแต่บัณฑิต กัลยาณมิตร เพราะบูชาบุคคลที่ควรบูชา

4.ทำให้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธาของมหาชน

5.ทำให้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ ผ่องใส และมีความสุขอยู่เสมอ

6.ทำให้มีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ และเข้าถึงธรรมได้ง่าย

7.ได้ชื่อว่ารู้จักใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญติดตัวไปในภพหน้าอย่างเต็มที่

8.ทำให้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม ไม่ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มอันประณีต และเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป

9.ได้บังเกิดในปฏิรูปเทส ภายใต้ร่มเงาบวรพุทธศาสนา

10.เมื่อละจากโลกมนุษย์แล้ว จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ประวัติความเป็นมาโดยย่อของประเพณีการทอดผ้าป่า

ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมิได้ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับ “คฤหบดีจีวร” หมายถึง “จีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ” พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อนที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ หรือ ผ้าห่อศพ เป็นต้น เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้มากพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาซักทำความสะอาด ตัด เย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การทำจีวรของพระภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงค่อนข้างยุ่งยาก และเป็นงานใหญ่ เครื่องอาศัยของบรรพชิต หรือ สิ่งที่บรรพชิตพึงปฏิบัติ เพื่อการยังชีพ ที่เรียกว่า “นิสสัย 4” ประกอบด้วย 1. เที่ยวบิณฑบาต 2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล 3. อยู่โคนไม้ 4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าพระภิกษุย่อมต้องอาศัยผ้าบังสุกุลเพื่อใช้นุ่งห่มจนตลอดชีวิต ผ้าบังสุกุลจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระภิกษุ ในสมัยพุทธกาลก็มีการทอดผ้าบังสุกุล การทอดผ้าบังสุกุลครั้งแรกเกิดจากเทพธิดาองค์หนึ่ง นามว่า “ชาลีนี” เรื่องมีอยู่ว่า... วันหนึ่ง ขณะที่พระอนุรุทธเถระ ผู้มีจีวรเก่าแล้ว ได้เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลในที่ทั้งหลาย มีกองหยากเยื่อ เป็นต้น เทพธิดาชาลินีเห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่ จึงมีความตั้งใจที่จะถวายผ้าทิพย์ 3 ผืน ยาว 13 ศอก กว้าง 4 ศอก แด่พระเถระ แต่เธอฉุกคิดว่า “ถ้าเราจักถวายพระเถระตรงๆ ท่านคงไม่รับ” เธอจึงซุกผ้าไว้ที่กองหยากเยื่อแห่งหนึ่งโดยให้แลเห็นแต่เฉพาะชายผ้าเท่านั้น บนเส้นทางที่พระอนุรุทธเถระจะต้องเดินผ่านไป เมื่อพระเถระได้เห็นชายผ้านั้นแล้ว จึงดึงชายผ้านั้นออกมา เห็นเป็นผ้าบังสุกุลจึงถือเอา แล้วกลับไป ในเวลาต่อมา เมื่อชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระภิกษุ จึงต้องการที่จะนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับคฤหบดีจีวร จึงได้ใช้วิธีการอย่างเทพธิดาชาลินี โดยนำผ้าอันสมควรแก่สมณบริโภค ไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ตามป่า, ป่าช้า, ข้างทางเดิน หรือแขวนไว้ตามกิ่งไม้ เพื่อให้พระภิกษุสะดวกในการแสวงหาผ้าบังสุกุล เมื่อพระภิกษุมาพบ เห็นว่าเป็นผ้าที่ผู้เป็นเจ้าของทอดอาลัยแล้ว ก็จะได้นำเอาไปทำเป็นผ้าจีวรต่อไป สำหรับในประเทศไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับการรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้วยทรงมีพระประสงค์ที่จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

บทความอื่นๆในหมวดนี้