ศูนย์อบรมเยาวชนดอยโมคคัลลานะ :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ศูนย์อบรมเยาวชนดอยโมคคัลลานะ

ศูนย์อบรมเยาวชนดอยโมคคัลลานะ

(Doi Mokalana Youth Training Center)

ที่ตั้ง

  • เลขที่ 176 หมู่ 1 ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
  • 176 Moo 1, Sop Tia, Chom Thong, Chiang Mai, Thailand, Postal code: 50160

ติดต่อศูนย์อบรมเยาวชนดอยโมคคัลลานะ

  • โทรศัพท์ 053-826-123, 082-192-5029, 084-612-1748
  • Tel: 053-826-123, 082-192-5029, 084-612-1748

เจ้าอาวาส

พระรัฐพล  สุริยเปโม (Phra Rathapol Suriyapemo)

  • ตำแหน่งหน้าที่: หัวหน้าศูนย์อบรมเยาวชนดอยโมคคัลลานะ

ข้อมูลเบื้องต้น

  • "ศูนย์อบรมเยาวชนพระธาตุดอยโมคคัลลานะ" ชื่อตามท้องถิ่น "วัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ" (Wat PhraTad Doi Mokalana)
  • วัดมีอยู่ 2 ส่วน คือ บนยอดเขา และด้านล่างหุบเขา
  • มีพระภิกษุอยู่ประจำ 5 รูป

ประวัติความเป็นมา

วัดพระธาตุดอยโมคคัลลานะ ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกเล็กๆ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (สายเชียงใหม่ – ฮอด) ซึ่งมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 400 เมตร เดิมทีมีสภาพเป็นป่า มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นและเป็นที่อาศัยของสัตว์ดุร้ายนานาชนิด เช่น เสือ เป็นต้น ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะเข้าไปบุกรุกพื้นที่บริเวณนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.2460 มีพระธุดงค์จำนวน 5 รูป ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เดินทางจากทางใต้เพื่อมาธุดงค์ทางภาคเหนือ (หนึ่งในจำนวนนั้น คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ) เมื่อมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ต่างก็แยกย้ายกันไปหาสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมของตนเอง มีพระภิกษุรูปหนึ่งมุ่งหน้าธุดงค์มาทางอำเภอจอมทอง และปักกลดอยู่ที่เชิงเขาดอยโมคคัลลานะ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงว่าเป็นป่าที่อันตรายมาก แต่เนื่องจากพระภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีความเคร่งครัดในพระวินัย และบุญฤทธิ์แก่กล้า จึงไม่เกิดอันตรายใดๆแก่ท่าน คราหนึ่งท่านเข้านิมิตฝันว่าบนยอดเขามีแท่นอาสนะหินและรอยหลุมเสาหินซึ่งมีพญางูเฝ้าดูแลรักษาอยู่ ท่านจึงเดินทางขึ้นไปบนยอดเขาในวันรุ่งขึ้น และก็พบว่าปรากฏมีแท่นอาสนะหินและรอยหลุมเสาหินอยู่จริงตรงตามนิมิต ท่านจึงอธิษฐานปักกลดอยู่บนยอดเขาแห่งนี้ ข่าวนี้เป็นที่แพร่กระจายไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้มีศรัทธาสาธุชนเกิดความเลื่อมใสนำอาหารคาวหวานขึ้นไปถวายเป็นจำนวนมากอย่างไม่ได้ขาด ชื่อของภิกษุรูปนั้น ซึ่งมาทราบภายหลังว่า คือ “พระเดชพระคุณหลวงปู่แก้ว สุทฺโธ” จึงได้เป็นที่รู้จัก และยอมรับนับถือ กันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา และอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สภาพภูมิอากาศจึงเย็นสบายตลอดทั้งปี กอปรกับมีศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก หลวงปู่แก้วจึงมีดำริจะสร้างพระธาตุและศาลาปฏิบัติธรรมขึ้น ด้วยหวังว่าจะได้เอาไว้ให้คนขึ้นมาสักการะและประพฤติปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้

ในปี พ.ศ. 2465 เดือนมิถุนายน (ตรงกับเดือน เก้าเหนือ แรม สิบสี่ค่ำ) จึงมีพิธีวางศิลาฤกษ์ ชื่อของ “สำนักสงฆ์พระธาตุดอยโมคคัลลานะ” และ “สถานที่ปฏิบัติธรรมดอยโมคคัลลานะ” จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 หลวงปู่แก้วได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา รวมสิริอายุได้ 87 ปี และได้มีการจัดพิธีสลายร่างหลวงปู่แก้ว บนยอดดอย เมื่อปี พ.ศ.2526 หลังจากนั้น หลวงพ่อมลซึ่งเป็นศิษย์เอก จึงได้รักษาการแทน แต่หลังจากหลวงพ่อมลมรณภาพลง สถานที่แห่งนี้จึงขาดการดูแลบูรณะจนกลายเป็นวัดร้าง เพราะขาดพระภิกษุที่มาอยู่ประจำพรรษาเป็นเวลาหลายปีจนเสื่อมโทรม ด้วยความเป็นห่วงของพระครูสุนทรพรหมคุณ (เจ้าคณะอำเภอจอมทอง ในขณะนั้น) เกรงว่าปูชนียวัตถุของอำเภอจะเสียหาย จึงได้ติดต่อขอพระจากวัดพระธรรมกายซึ่งอยู่บนยอดดอยอำเภอฮอดมาอยู่จำพรรษา

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2543 เจ้าคณะอำเภอจอมทอง ร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ และคณะศรัทธาสาธุชน จึงได้มานิมนต์พระภิกษุจากวัดพระธรรมกายที่ปฏิบัติศาสนกิจ ณ สนแก้ววนาราม เพื่อมาพัฒนาพื้นฟูและเผยแผ่ธรรมะ ให้สถานที่แห่งนี้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง

หมู่คณะซึ่งนำโดย พระใบฎีกาวิสุทธิ์ ธมฺมสุทฺโธ และคณะ จึงได้ส่งคณะพระภิกษุสงฆ์ให้ลงไปเผยแผ่ในครั้งนี้ ได้แก่ พระรัฐพล สุริยเปโม, พระใหม่ อาภาธโร และสามเณรอีกหนึ่งรูป ไปอยู่จำพรรษาในพื้นที่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 และได้เริ่มต้นฟัฒนาพื้นที่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ด้วยมโนปณิธานที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ที่จะเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาไปทั่วทุกมุมโลก รวมถึงการพัฒนาวัดร้างให้กลายเป็นวัดรุ่ง รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองไปอีกตราบนานเท่านาน

กิจกรรมและการดำเนินงานของวัด

ทางวัดแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพยากรมนุษย์ และศาสนวัตถุ ดังนี้

1. ในด้านทรัพยากรมนุษย์

  • มีการจัดอบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน และฤดูหนาว เป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 30 – 50 รูป เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน
  • จัดอบรมคุณธรรมศีลธรรมสำหรับเยาวชนในตำบลสบเตี๊ยะและใกล้เคียง
  • จัดอบรมปฏิบัติธรรมสมาธิกับการพัฒนาจิตใจ สำหรับบุคคลทั่วไป ในช่วง วันเสาร์ – อาทิตย์
  • อบรมตอกย้ำพื้นฐานแก่ผู้ที่ผ่านการอุปสมบทหรือบรรพชามาแล้ว

2. ในด้านศาสนวัตถุ

  • ทำการบูรณะพระธาตุเจดีย์ เนื่องจากมีสภาพทรุดโทรมเกรงว่าจะพังลงมา เพราะมีรอยร้าวทั่วองค์เจดีย์ พร้อมทั้งทาสีทองพระธาตุเจดีย์ และทำซุ้มรอบพระธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน 2 ชั้น รวมเป็น  8 ซุ้ม เพื่อประดิษฐาน พระธรรมกาย องค์เล็ก 4 องค์ และ องค์ใหญ่ 4 องค์
  • ซ่อมแซมศาลา, กุฏิ, โรงครัว, หอฉัน รวมทั้งห้องสุขา
  • สร้างห้องสุขาเพิ่ม เพื่อรองรับงานอบรม และงานทั่วไป
  • ทำระบบไฟฟ้าและน้ำประปาภายในวัดบนยอดเขา
  • ติดตั้งโทรศัพท์ภายในวัด
  • ปรับปรุงที่เก็บอัฐิของพระเดชพระคุณหลวงปู่แก้ว สุทฺโธ ใหม่ทั้งหลัง

กิจกรรมประจำปีของวัด

  • ประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำปี ซึ่งตรงกับจันทรคติวันแรม 14 ค่ำ / 15 ค่ำ เดือนเก้าดับเหนือพิธีทอดกฐินสามัคคี
  • บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปี และกิจกรรมการบิณฑบาตตามหมู่บ้านต่างๆของสามเณร
  • อบรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูฝน ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกปี และกิจกรรมการบิณฑบาตตามหมู่บ้านต่างๆของสามเณร
  • พิธีทำบุญตักบาตรช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยจะมีคณะสงฆ์ และสาธุชนในละแวก     ใกล้เคียงมาร่วมกิจกรรมประมาณ 300 คน
  • พิธีตักบาตรเทโวหลังออกพรรษา, ทำบุญเดือนเกิด และปล่อยสัตว์ปล่อยปลา
  • บรรพชาสามาเณร พิเศษ รุ่น 5 ช่วงประมาณวันที่  10 – 31 ตุลาคม ของทุกปี
  • งานบุญสลากภัตประจำปี ซึ่งตรงกับจันทรคติวันขึ้นแปดค่ำ เดือนสิบสองเหนือ

สถานที่ทัศนศึกษาที่น่าสนใจในอำเภอจอมทอง

  • วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร: หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านหลวง
  • พระสถูปพระเจ้าอินทวิชยานนท์: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง (ยอดสูงสุดของดอยอินทนนท์)
  • พระสถูปเจดีย์ นภเมทนีดล: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 41 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • พระสถูปเจดีย์ นภพลภูมิสิริ: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 41 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • พิพิธภัณฑ์ป้าแสงดา มูลนิธิแสงดา บันสิทธิ บ้านไร่ไผ่งาม: หมู่ที่ 8 ตำบลสบเตี๊ยะ
  • กิ่วแม่ปาน: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 42 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 31 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 31 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • น้ำตกแม่กลาง: หมู่ที่ 20 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 9 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • น้ำตกสิริภูมิ: หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 31 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • น้ำตกวชิรธาร: หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 20 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • น้ำตกสิริธาร: หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 22 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์
  • น้ำตกแม่ยะ: หมู่ที่ 19  ตำบลบ้านหลวง อยู่ด้านทิศตะวันตกของอำเภอจอมทอง ถนนสายจอมทอง – น้ำลัด – แม่ยะ  (ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร )
  • น้ำตกแม่เตี๊ยะ: หมู่ที่ 3 ตำบลดอยแก้ว อยู่ด้านทิศตะวันตกของอำเภอจอมทอง ถนนสายจอมทอง – แม่เตี๊ยะ (ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร)
  • หมู่บ้านโฮมสเตย์ (Home Stay) บ้านแม่กลางหลวง: หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านหลวง กิโลเมตรที่ 25 ถนนสายจอมทอง – อินทนนท์

 


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น
บทความอื่นๆในหมวดนี้