มหาธรรมกายเจดีย์ :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

มหาธรรมกายเจดีย์

มหาธรรมกายเจดีย์: สัญลักษณ์แห่งสันติภาพโลก

มหาธรรมกายเจดีย์นับว่าเป็นมหาเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย เกิดขึ้นจากการนำของหลวงพ่อธัมมชโย โดยดำริจะสร้างศาสนสถานให้เป็นศูนย์กลางการรวมใจและการประพฤติปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วโลก ซึ่งศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายและพุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้ร่วมใจกันสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2537 เรื่อยมา โดยเป้าหมายในการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ก็เพื่อไว้เป็นสถานที่สำหรับสร้างสันติภาพโลกให้แก่มวลมนุษยชาติ โดยเริ่มจากการพัฒนาสันติสุขภายในใจของแต่ละบุคคล เพราะแท้จริงแล้ว สันติภาพโลกเป็นผลพลอยได้จากใจที่เปี่ยมไปด้วยสันติสุข และความบริสุทธิ์ของทุกๆ คนที่เกิดขึ้นจากใจที่หยุดนิ่งจากการทำสมาธิ สันติสุขภายในจะผสานความแตกต่างและแตกแยก และสร้างปณิธานแห่งสันติภาพโลกร่วมกัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่รองรับผู้คน ซึ่งกำลังค้นหาบางสิ่งที่จะเติมเต็มให้กับชีวิตและจิตใจ และความสุขที่เป็นอิสระจากวัตถุภายนอกและสภาวะแวดล้อม นอกจากการพัฒนาอานุภาพของจิตผ่านการเจริญสมาธิภาวนาแล้ว ยังมีการปลูกฝังศีลธรรมให้กับผู้ที่สนใจ ดังนั้นจึงได้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย อันเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ มหาธรรมกายเจดีย์ เป็นหนึ่งในศาสนสถานในโครงการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีส่วนประกอบในโครงการนี้ 3 ส่วน คือ

  1. องค์มหาธรรมกายเจดีย์
  2. ลานธรรม
  3. มหารัตนวิหารคด

องค์มหาธรรมกายเจดีย์ มีลักษณะเป็นทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 194.40 เมตร ความสูง 32.40 เมตร มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่

  • พุทธรัตนะ

พุทธรัตนะ คือ ส่วนโดมและเชิงลาดสีทอง ด้านนอกเจดีย์ประดิษฐานพระธรรมกายประจำตัว 300,000 องค์ และด้านในเจดีย์อีก 700,000 องค์ ฐานองค์พระจารึกรายนามของผู้มีบุญที่ร่วมสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวประดิษฐานไว้ ณ มหาธรรมกายเจดีย์แห่งนี้ด้วย องค์พระธรรมกายประจำตัวมีความสูง 18 เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะซิลิกอนบรอนซ์ยิงอนุภาคทองคำแท้เคลือบพื้นผิวด้านนอกองค์พระและจารึกชื่อของผู้เป็นเจ้าของไว้ที่ฐานองค์พระ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชีวิต และเป็นทางมาแห่งบุญที่จะเกิดขึ้นกับผู้สร้างนานนับพันปีเท่าอายุขององค์พระ นอกจากนี้ภายในเจดีย์ยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระบรมพุทธเจ้า

พระประธานในมหาธรรมกายเจดีย์ หล่อจากเงินแท้ หนัก 14 ตัน มีความสูง 4.50 เมตร หน้าตักกว้าง 4.50 เมตร ทั้งองค์พระธรรมกายประจำตัวและองค์พระบรมพุทธเจ้าสร้างตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก และแบบเดียวกับพระธรรมกายภายในที่ปรากฏในตัวมนุษย์ทุกคน

  • ธรรมรัตนะ

ธรรมรัตนะ เป็นวงแหวนเชิงลาดสีขาวโดยรอบมหาธรรมกายเจดีย์ แทนพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงสัญลักษณ์ที่แผ่ขยายออกไปประดุจธรรมจักร เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างพุทธรัตนะและสังฆรัตนะ มีความกว้าง 10.8 เมตร

  • สังฆรัตนะ

สังฆรัตนะ เป็นพื้นที่ขั้นบันไดวงแหวน ลดหลั่นลงมา จำนวน 22 ขั้น ถัดจากธรรมรัตนะ ใช้สำหรับพระภิกษุนั่งปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีจำนวน 10,000 รูป หินแกรนิตที่นำมาประกอบเป็นธรรมรัตนะและสังฆรัตนะ เป็นหินแกรนิตคุณภาพดี เนื้อหินมีความสม่ำเสมอ มีความหนามากกว่าหินแกรนิตทั่วไปในท้องตลาด สั่งตัดพิเศษตามลัษณะโครงสร้างของมหาธรรมกายเจดีย์ ใช้วิธีการปูลอยนั่งบนที่ทำจากฐานสแตนเลสชนิดพิเศษ ถัดลงมารอบองค์มหาธรรมกายเจดีย์เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ใช้เป็นลานเวียนประทักษิณของพระภิกษุสงฆ์และสระน้ำ และถัดออกไปวงนอกเป็นลานเวียนประทักษิณของสาธุชนตามลำดับ

โครงสร้างขององค์มหาธรรมกายเจดีย์นั้นสร้างขึ้นจาก Super Structure Concrete ซึ่งเป็นคอนกรีตส่วนผสมพิเศษที่สามารถรับกำลังอัดได้มากกว่าโครงสร้างปกติถึง 3 เท่า พื้นผิวทั้งหมดไม่กระทบกับฝนและแดด ความร้อนและความเย็นก็ไม่กระทบโดยตรง จึงทนทานต่อการกัดกร่อนมากกว่า และสามารถอยู่ได้นานนับพันปี เสาเข็มขององค์มหาธรรมกายเจดีย์หล่อด้วยคอนกรีตผสมพิเศษหุ้มสแตนเลส เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อน

ประเภทของมหาธรรมกายเจดีย์

ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ตรัสบอกกับพระอานนท์ถึงประเภทของมหาเจดีย์ไว้ว่ามี 4 ประเภท มหาธรรมกายเจดีย์เป็นมหาเจดีย์ 3 จาก 4 ประเภท ได้แก่

  1. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน
  2. อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูป ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์มีพระธรรมกายประจำตัวด้านนอก 300,000 องค์ ด้านใน 700,000 องค์ และพระบรมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานเป็นองค์ประธานอยู่ภายในส่วนโดมของมหาธรรมกายเจดีย์
  3. ธรรมเจดีย์ ได้แก่ สถานที่เก็บพระคัมภีร์ พระธรรมคำสอน และพระไตรปิฎก ตลอดจนตำราการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ซึ่งมหาธรรมกายเจดีย์ได้บรรจุพระไตรปิฎก หนังสือ ตำราพระพุทธศาสนา และซีดีรอมวิชาบาลีไว้ในส่วนธรรมรัตนะด้วย

ประวัติศาสตร์การสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์

มหาธรรมกายเจดีย์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ห่างจากอดีตสนามบินดอนเมือง ไปทางทิศเหนือประมาณ 16 กิโลเมตร การสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ดำเนินมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยเริ่มอยู่ธุดงค์กลั่นแผ่นดิน ร่วมกันอธิษฐานจิตให้แผ่นดินที่จะสร้างมหาธรรมกายเจดีย์มีความสะอาดบริสุทธิ์ วันที่ 8 กันยายน 2538 ตอกเสาเข็มต้นแรกมหาธรรมกายเจดีย์ 1 กันยายน 2539 เทคอนกรีตฐานรากมหาธรรมกายเจดีย์ 26 กันยายน 2539 ตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย 11 กุมภาพันธ์ 2541 ประดิษฐานพระบรมพุทธเจ้า ณ โดมมหาธรรมกายเจดีย์ และเมื่อองค์มหาธรรมกายเจดีย์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว จึงมีการหล่อและประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัวภายนอกและภายในเรื่อยมาจนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 หากไม่มีการบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และวิชชาธรรมกาย มหาธรรมกายเจดีย์ก็จะไม่มีวันปรากฏขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะมหาธรรมกายเจดีย์เป็นประดุจสิ่งแทนความบริสุทธิ์จากดินแดนของพระอริยเจ้า ซึ่งจะรังสรรค์สันติภาพและสันติสุขให้บังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก

สันติภาพที่จะยืนยงคงอยู่นับพันปี

หลวงพ่อธัมมชโยมีความปรารถนาที่จะเห็นโลกใบนี้มีสันติสุขจากพุทธธรรม ด้วยการทำสมาธิภาวนานานนับพันปี ดังนั้น สถาปนิกและวิศวกรของโครงการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ได้ทำการวิจัยอย่างละเอียดจริงจังในด้านของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจากการสืบหลักฐานประวัติศาสตร์ของสิ่งก่อสร้างที่มีอายุยืนนานนับพันปี จึงได้ข้อสรุปว่าวัสดุที่จะใช้ในโครงสร้างของธรรมกายเจดีย์ คือ “คอนกรีต” และ “เหล็ก” เนื่องจากพบหลักฐานจากพีรามิดโบราณของอียิปต์ ซึ่งชาวอียิปต์ในเวลานั้น ได้ใช้หินปูนขาวเพื่อผนึกก้อนหินของพีระมิดเข้าด้วยกัน หลายพันปีผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หินปูนขาวนั้นก็ยังคงอยู่คู่กับพีระมิด ดังนั้น เราจึงพบว่า “คอนกรีต” จะเป็นสิ่งคงทนถาวร ที่จะรองรับมหาธรรมกายเจดีย์ไปนานนับพันปี ในที่สุด คอนกรีตสูตรพิเศษ ได้ถูกส่งไปยังประเทศเดนมาร์กเพื่อทดสอบในห้องทดลองในปี 2538 และผลการทดสอบได้ยืนยันคอนกรีตสูตรนี้ ว่าเป็นคอนกรีตที่คงทนถาวรมากที่สุดสูตรหนึ่ง บริษัทวิจัยอีกแห่งหนึ่งคือบริษัทซีแพค ในสหรัฐอเมริกา ยังได้ทำการรับรองความคงทนถาวรของคอนกรีตสูตรพิเศษสำหรับมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นหน่วยงานที่สอง สำหรับส่วนที่รองรับพระพุทธรูปประจำตัวจำนวนสามแสนองค์ ทั้งบนโดมและส่วนเชิงลาดของพระมหาธรรมกายเจดีย์นั้นเรียกว่า “แคล็ดดิ้ง” สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ต่อเนื่องอีกยาวนานกว่าพันปีจากนี้ไป ซึ่งผู้คนในยุคต่อๆไปจะได้มาเรียนรู้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มชนผู้ได้สร้างสรรค์สันติภาพโลกผ่านสันติสุขภายใน โดยการสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์อันน่าอัศจรรย์ให้แก่มวลมนุษยชาติ

พระธรรมกายประจำตัว

มหาธรรมกายเจดีย์ถูกออกแบบมาเพื่อประดิษฐาน องค์พระธรรมกายประจำตัว 1,000,000 องค์ พระพุทธรูปปางขัดสมาธิแต่ละองค์ ที่ประดิษฐานอยู่ ณ มหาธรรมกายเจดีย์ ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์, ดวงปัญญา และการบรรลุธรรม เพราะเหตุว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จิตของพระองค์จึงบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสอาสวะ และสภาวธรรมนี้ จึงแผ่ขยายสู่สรรพสัตว์อันไม่มีประมาณ สันติสุขภายในของแต่ละบุคคลสามารถแผ่ขยายไปได้โดยรอบ สร้างครอบครัวให้มีความสุขขึ้น ทำสังคมให้เปี่ยมสุข และผู้คนปฏิบัติต่อกันด้วยจิตเมตตาปรารถนาดี และมีความเคารพต่อกัน พระพุทธรูปประจำตัวแต่ละองค์มีขนาดกว้าง 15 ซ.ม. สูง 15 ซ.ม. และมีฐานรองรับซึ่งกว้าง 18 ซ.ม. ทางวัดพระธรรมกายขออนุโมทนาต่อปัจจัยบริจาคจากทุกท่าน สำหรับท่านที่บริจาคครบจำนวนที่จะสร้างพระพุทธรูปประจำตัวได้ ก็สามารถมีชื่อ-นามสกุลของท่านหรือบุคคลอันเป็นที่รักสลักจารึกลงบนฐานของพระพุทธรูปประจำตัว อันที่จริงแล้ว สันติภาพโลกนั้นต้องมีการแบ่งปัน และเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกๆ คน สันติภาพไม่อาจถูกสร้างขึ้นโดยบุคคลใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้น พระพุทธรูปประจำตัว ณ มหาธรรมกายเจดีย์จึงเป็นประจักษ์พยานในความพยายามของมนุษยชาติ ที่จะสร้างสันติภาพโลกให้แก่กัน พระพุทธรูปประจำตัวและแคล็ดดิ้งถูกสร้างขึ้นด้วยโลหะซิลิกอน บรอนซ์ ซึ่งปกติแล้วจะใช้ผลิตใบพัดของเรือดำน้ำเพื่อความแข็งแรงและทนต่อสารเคมี จากความรู้ด้านอารยธรรมยุคบรอนซ์เริ่มแรกของโลกที่ “บ้านเชียง” จังหวัดอุดรธานีนั้น นักโบราณคดีได้ขุดพบรูปหล่อโลหะบรอนซ์ ซึ่งเชื่อว่ามีอายุถึงห้าพันปี เมื่อพิจารณาสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ความชื้น และความร้อนแบบเขตศูนย์สูตร เราได้ตัดสินใจที่จะใช้ไททาเนียมและทองคำในการเคลือบผิวของพระพุทธรูปโลหะ ซิลิกอน บรอนซ์ เพื่อป้องกันพื้นผิว และให้ความมั่นใจว่าจะอยู่ได้นานนับพันปี เทคนิคนี้เรียกว่า “ไททาเนี่ยม-โกลด์ ไอออน เพลทติ้ง” ยังผลให้พระธรรมกายประจำตัวบนองค์มหาธรรมกายเจดีย์นั้น สุกสว่างราวทองคำ การก่อสร้างโครงสร้างของมหาธรรมกายเจดีย์นั้น เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2542 โดยส่วนนอกของเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานของพระธรรมกายประจำตัวจำนวนสามแสนองค์ ทั้งบนส่วนโดม และวงแหวนเชิงลาด ส่วนภายในซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการนั้น จะเป็นที่ประดิษฐานของพระธรรมกายประจำตัวอีกจำนวนเจ็ดแสนองค์ พระพุทธรูปจำนวยหลายแสนองค์นี้มีผู้เป็นเจ้าของแล้ว ในขณะที่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังรอคอยเจ้าภาพผู้มีบุญ มาเป็นเจ้าของบุญร่วมสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ ในช่วงระหว่างวิกฤตทางเศรษฐกิจของเอเชียระหว่างปี 2541 - 2543 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไปประเทศไทย สาธุชนผู้มีบุญได้ประสบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายๆ ท่านที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านจิตใจ และคุณธรรม เพื่อความสุขอันเป็นของเฉพาะตน และสันติภาพโลก และท่านเหล่านี้เองได้บริจาคปัจจัยที่ได้ออมไว้ เพื่อให้การสร้างพระมหาธรรมกายเจดีย์ได้สำเร็จลุล่วงในที่สุด

ลำดับเวลาในการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์

เวลา เหตุการณ์                                    
กุมภาพันธ์ 2537 หลวงพ่อธัมมชโย ดำริเริ่มโครงการ
กันยายน 2538 ตอกเสาเข็มต้นแรก
กันยายน 2539 เริ่มการสร้างฐานรากคอนกรีต
เมษายน 2541 ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์แรก ณ ยอดโดม
ธันวาคม 2542

พระพุทธรูปประจำตัวจำนวนสามแสนองค์ได้ถูกประดิษฐานครบถ้วน ณ ภายนอกองค์พระเจดีย์ สำเร็จทันกำหนด

การเฉลิมฉลองสหัสวรรษแห่งสันติภาพ ซึ่งเริ่มขึ้นในคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 สาธุชนกว่า 200,000 คน

จากทั่วโลกเข้าร่วมเฉลิมฉลองสหัสวรรษแห่งสันติภาพเป็นเวลา 3 วัน ณ มหาธรรมกายเจดีย์

มีนาคม 2547 สถานปนามหารัตนวิหารคด
เมษายน 2553 หล่อพระธรรมกายรุ่น "ปิดเจดีย์"
เมษายน 2554 หล่อองค์พระธรรมกาย 100,000 องค์สุดท้าย

ลานธรรม

ลานธรรม เกิดขึ้นจากการร่วมใจกัน "โป้ง ประวัติศาสตร์" สถาปนาขึ้นของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกพร้อมกับองค์มหาธรรมกายเจดีย์ สร้างขึ้นล้อมรอบองค์มหาธรรมกายเจดีย์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผสมพิเศษหล่อเป็นแผ่นพื้น ซึ่งสามารถรับแรงกดได้สูง โดยลงเสาเข็มลึก 21 เมตร จำนวน 17,948 ต้นรองรับตลอดทั้งพื้นที่ เพื่อป้องกันการทรุดตัวของพื้นดินในอนาคต รวมทั้งมีการทำคานคอนกรีตเชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกัน มีระบบระบายน้ำใต้พื้นดินที่มีประสิทธิภาพสูง พื้นลานธรรมได้รับการออกแบบให้อยู่คงทนนานกว่าหนึ่งพันปีเคียงคู่มหาธรรมกายเจดีย์ ภายในบริเวณลานธรรม มีเสามงคล 4 ต้น ซึ่งทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ยอดเสาเป็นโลหะ มีความสูง 64 เมตร สามารถใช้งานได้เอนกประสงค์ อาทิ เป็นเสาล่อฟ้า ใช้ถ่ายภาพ ใช้ควบคุมความปลอดภัย ฯลฯ

มหารัตนวิหารคด

เป็นอาคารหลังใหญ่ไร้กำแพง ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผิวเปลือย 2 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสรายล้อมรอบลานธรรมและองค์มหาธรรมกายเจดีย์ มีความยาวด้านละ 1 กิโลเมตร หลังคาเป็นโลหะสแตนเลสชนิดพิเศษทรงพีระมิดแบบพื้นลาด 4 ด้าน ใต้หลังคามีฉนวนกันความร้อน เสาและคานทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กผิวเปลือย ส่วนพื้นเป็นคอนกรีตขัดมัน รวมทั้ง 2 ชั้นของมหารัตนวิหารคดมีพื้นที่ใช้งาน 631,776 ตารางเมตร เมื่อรวมกับพื้นที่ของลานธรรมอีกจำนวนกว่า 430,000 ตารางเมตรแล้ว จะมีพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งจะสามารถรองรับพุทธบริษัทที่มาร่วมประกอบพิธีแต่ละครั้งได้ถึง 1 ล้านกว่าคน มหารัตนวิหารคด

เริ่มสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 เรื่อยมา ซึ่งนับตั้งแต่พื้นที่ชั้น 1 ของมหารัตนวิหารคดสามารถใช้งานได้ วัดพระธรรมกายได้ใช้สถานที่เพื่อจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์หลายครั้ง เช่น การเวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ในวันวิสาขบูชา ใช้เป็นพื้นที่จัดตักบาตร ถวายไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์นับหมื่นรูปจากทั่วประเทศ จัดนิทรรศการพุทธประวัติ และจัดงานวันรวมพลังเด็กดีวีสตาร์ ใช้เป็นที่พักสำหรับผู้อยู่ธุดงค์ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ใช้เป็นที่พักสำหรับการฝึกอบรมพระภิกษุธรรมทายาท ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับโครงการบวชอบรมธรรมทายาท และโครงการบวชอุบาสิกาแก้ว เป็นต้น นอกจากมหารัตนวิหารคดจะเป็นศูนย์รวมพุทธบริษัทเพื่อการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในวันสำคัญต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสถานที่อบรมศีลธรรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้สถานที่แห่งนี้ตลอดทั้งปี อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการ "สร้างคนดี" ให้แก่สังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องเสมอมา

แหล่งผลิตคนดีที่โลกต้องการ

หลวงพ่อธัมมชโย มีดำริที่จะใช้สถานที่แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์รวมใจผู้มีบุญทุกชาติ ทุกภาษา ทั่วโลก ที่จะหลั่งไหลมาประพฤติปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ และเป็นประดุจมหารัตนบัลลังก์ของพุทธบุตรจากทั้งในและต่างประเทศที่จะเดินทางมาประชุมรวมกันเพื่อศึกษาคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและประกอบศาสนกิจในโอกาสสำคัญ อันจะเป็นจุดเชื่อมประสานให้พุทธบุตรทุกนิกายสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว ซึ่งการรวมตัวกันของพุทธบุตรและพุทธบริษัทจะทำให้เกิดพลังอันแข็งแกร่งในการสร้างสรรค์งานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา และสันติสุขของชาวโลก นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะพุทธบุตรนั่นเองที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสันติภาพโลก โดยการทำให้มวลมนุษยชาติรู้จักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง รู้วิธีปิดอบาย ไปสวรรค์ และอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน โครงการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์เกิดขึ้นจากพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลกที่พร้อมใจกันสละทรัพย์อันมีค่าฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งหลวงพ่อธัมมชโยก็มีนโยบายให้ใช้ทรัพย์ที่พุทธศาสนิกชนสละมาใช้ในงานพระพุทธศาสนาอย่างคุ้มค่าให้ประหยัดสุดและประโยชน์สูงสุด เมื่อใดที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติธรรมรายรอบมหาธรรมกายเจดีย์แล้ว สันติภาพและสันติสุขที่จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ก็จะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

บทความอื่นๆในหมวดนี้