มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2452 ซึ่งตรงกับ วันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา ที่อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม คุณยายเป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องชายหญิงทั้งหมด 9 คน มีบิดาชื่อ พลอย มีมารดาชื่อ พัน ประกอบอาชีพทำนา ฐานะของครอบครัวจัดอยู่ในระดับปานกลาง มารดาของคุณยาย เป็นผู้ที่มีฐานะดีกว่าบิดา ในสมัยเด็กมีความใกล้ชิดกับมารดามากกว่าบิดา มารดาเป็นคนใจดี ชอบทำขนมให้ลูกๆรับประทาน ส่วนบิดาเป็นคนติดสุรา จึงมักทะเลาะกับมารดาอยู่เสมอ

ด้วยเหตุที่บิดาติดสุรา เมื่อมึนเมามักบ่นพึมพำ มารดารู้สึกรำคาญ จึงตะโกนออกไปว่า “ไอ้นกกระจอก อาศัยรังเขาอยู่” เมื่อบิดาของคุณยายได้ยินก็โกรธจัด จึงถามลูกๆว่าได้ยินที่แม่ด่าว่าพ่อไหม คุณยายไม่อยากให้บิดาและมารดาทะเลาะกัน จึงกล่าวว่า มารดากล่าวเช่นนั้นคงไม่ได้หมายถึงบิดา ทำให้บิดาโกรธมากจึงแช่งว่า “ขอให้หูหนวก 500 ชาติ” ทำให้คุณยายกลัวมาก เพราะเชื่อว่าคำพูดของบิดามารดานั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ หากแช่งลูกอย่างไรย่อมจะเป็นเช่นนั้น

ประมาณ ปี พ.ศ. 2464 ในขณะนั้นคุณยายอายุได้เพียง 12 ปี คุณพ่อของคุณยาย เสียชีวิตลง ในขณะที่คุณยายกำลังดูแลที่นา เมื่อคุณยายกลับมาถึงบ้าน ทราบข่าวแล้ว จึงเสียใจมาก เนื่องจากยังไม่ได้ขอขมาพ่อก่อนท่านตาย ซึ่งความรู้สึกกลัวคำแช่งของบิดายังคงติดอยู่ในใจของคุณยายตลอดมา

ประมาณ ปี พ.ศ. 2470 เมื่อคุณยายอายุได้ 18 ปี มีข่าวร่ำลือว่า หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หรือที่รู้จักกันในอีกนามหนึ่ง คือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สามารถสอนคนให้เข้าถึงธรรมกายได้ และเมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว จะสามารถไปนรก, สวรรค์ ไปนิพพานได้ ไปพบพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้วก็ได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คุณยายปรารถนาที่จะศึกษาวิธีการนั่งสมาธิเพื่อไปขอขมาบิดาในปรโลกเพื่อให้ตนไม่ต้องหูหนวกในชาติต่อๆไป คุณยายจึงคาดหวังว่า จะต้องไปพบหลวงปู่วัดปากน้ำให้ได้ จากนั้นจึงได้เริ่มถือศีล 5 เป็นปกติ และรอคอยจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร

ปี พ.ศ. 2478 เมื่อคุณยายอายุได้ 26 ปี จึงตัดสินใจลาแม่และพี่น้อง เพื่อจะหาหนทางไปพบหลวงปู่วัดปากน้ำ โดยมอบทรัพย์สมบัติ อันได้แก่ที่ดินที่เป็นส่วนของท่านให้กับพระน้องชายซึ่งพิการ และแก้วแหวนเงินทองทั้งหมดให้กับพี่น้อง หลังจากคุณยายมาอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯแล้ว ได้สืบทราบว่าที่บ้านคุณนายเลี้ยบ สิกาญจนานันท์ เศรษฐีย่านสะพานหัน เป็นอุปัฏฐากสำคัญที่ไปทำบุญที่วัดปากน้ำกันเป็นประจำ จึงไปสมัครเป็นคนรับใช้ที่บ้านหลังนี้ ในช่วงเวลาที่คุณยายมาอยู่บ้านคุณนายเลี้ยบนั้น คุณนายเลี้ยบได้เชิญคุณยายทองสุก สำแดงปั้น มาสอนธรรมะที่บ้าน คุณยายจึงหาโอกาสเข้าไปปฏิบัติรับใช้คุณยายทองสุกอย่างดี จนคุณยายทองสุกรู้สึกเอ็นดู และขออนุญาตเจ้าของบ้านให้คุณยายได้เรียนธรรมปฏิบัติด้วย ดังนั้นทุกๆวันคุณยายจะรีบทำงานบ้านให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เพื่อหาโอกาสไปนั่งปฏิบัติธรรม คุณยายปฏิบัติธรรมด้วยความตั้งใจจริง จนได้เข้าถึงธรรมกาย และเมื่ออาศัยพระธรรมกายเดินฌานสมาบัติจนชำนาญแล้ว คุณยายทองสุกจึงสอนให้คุณยายไปหาพ่อด้วยการใช้วิชชาธรรมกาย คุณยายได้เอาบุญที่เข้าถึงธรรมกายช่วยพ่อให้พ้นจากนรก และได้มีโอกาสขอขมาพ่อในคราวนั้น

ปี พ.ศ. 2481 คุณยายขออนุญาตคุณนายเลี้ยบมาปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำ เมื่อได้พบหลวงปู่วัดปากน้ำครั้งแรก หลวงปู่ก็ทักขึ้นว่า “มึงมันมาช้าไป” ที่ท่านทักอย่างนี้ก็เพราะท่านรอคอยมานานแล้วว่า ผู้ที่มีพื้นฐานในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายชั้นสูงได้นั้น เมื่อไรจะมาสักที แล้วหลวงปู่วัดปากน้ำก็ส่งคุณยายเข้าโรงงานทำวิชชา (ห้องปฏิบัติธรรมเพื่อศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูง) ทันที ประมาณ เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2484 การนั่งปฏิบัติธรรมศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูงในสมัยสงครามโลกนั้น จะนั่งติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นผลัดละ 6 ชั่วโมง ด้วยความตั้งใจจริงของคุณยาย ทำให้ท่านศึกษาวิชชาธรรมกายได้อย่างเชี่ยวชาญยิ่ง และได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าผลัด ท่านทำหน้าที่ด้วยความเพียรยิ่งกว่าใคร ถึงแม้จะหมดหน้าที่ในผลัดของตนแล้ว ท่านก็ยังนั่งร่วมกับผลัดต่อไปอีกครึ่งชั่วโมง เพื่อรอรับความรู้ที่หลวงปู่วัดปากน้ำจะถ่ายทอดให้หัวหน้าผลัดคนใหม่ แล้วจึงไปพัก เป็นเช่นนี้สม่ำเสมอ ญาณทัสสนะของคุณยายจึงแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งนัก ดังนั้น ไม่ว่าหลวงปู่วัดปากน้ำจะสั่งอะไรก็ตาม คุณยายก็สามารถทำได้ตามนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อหลวงปู่วัดปากน้ำท่านเห็นดังนี้ จึงได้รำพึงขึ้นมาในท่ามกลางกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกันว่า “ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง”

ปี พ.ศ. 2497 หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้เรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหมด เพื่อประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า อีก 5 ปี ท่านจะมรณภาพ และให้ลูกศิษย์ช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก เพราะสำคัญและมีประโยชน์มาก วิชชานี้สามารถช่วยคนทั้งโลกได้

ปี พ.ศ. 2502 หลวงปู่วัดปากน้ำมรณภาพลง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 เวลาบ่าย 3 โมงเศษ หลังจากนั้นบรรดาลูกศิษย์นักปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายชั้นสูงทั้งหลาย ต่างแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง ส่วนคุณยายยังคงอาศัยอยู่กับคุณยายทองสุกที่บ้าน 3 ชั้น ในวัดปากน้ำ ปฏิบัติกิจภาวนา และช่วยปรนนิบัติดูแลคุณยายทองสุกเช่นเดิม

ปี พ.ศ. 2503 คุณยายทองสุกล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งมดลูกระยะสุดท้าย ซึ่งในสมัยนั้นนอกจากจะไม่มียาดีที่รักษาให้หายแล้ว ยังมีกลิ่นเหม็นรุนแรงเป็นที่น่ารังเกียจ แต่คุณยายไม่เคยรู้สึกหรือแสดงท่าทีรังเกียจคุณยายทองสุกเลยแม้สักครั้ง กลับขยันหมั่นทำความสะอาด เช็ดถูตัว ซักเสื้อผ้าให้คุณยายทองสุกเสียจนสะอาดสะอ้าน นำน้ำอบไทยมาพรมดับกลิ่นให้ เพื่อที่ว่าในเวลาที่ลูกศิษย์ของคุณยายทองสุกที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเยี่ยม จะได้ไม่มีกลิ่นอันอาจเป็นเหตุให้ศิษย์เหล่านั้นรังเกียจ คุณยายดูแลปรนนิบัติคุณยายทอกสุกอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งคุณยายทองสุกสิ้นชีวิต ปี พ.ศ.2506 คุณยายระลึกถึงคำสั่งของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ให้เผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก ทำให้คุณยายต้องแสวงหาและรอคอยผู้ที่จะมาทำหน้าที่สืบทอดและเผยแผ่วิชชาธรรมกายตามที่หลวงปู่วัดปากน้ำสั่งไว้ จนกระทั่งในปีนั้นเอง (พ.ศ.2506) คุณยายจึงได้พบกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่สนใจมาขอเรียนธรรมปฏิบัติ และมีผลการปฏิบัติธรรมดีเยี่ยมในเวลาอันรวดเร็ว เด็กหนุ่มผู้นั้นปัจจุบัน คือ หลวงพ่อธัมมชโย

ปี พ.ศ.2509 นายเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ปัจจุบัน คือ หลวงพ่อทัตตชีโว ได้พบกับหลวงพ่อธัมมชโย ครั้งแรกเมื่อวันลอยกระทงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2509 การพบกันครั้งนั้น ทำให้หลวงพ่อทัตตชีโว ซึ่งสนใจในเรื่องนรก สวรรค์ อยู่แล้ว อยากจะไปพบคุณยาย หลวงพ่อธัมมชโยต้องอบรมหลวงพ่อทัตตชีโวอยู่นานถึง 3 เดือน จึงได้พาไปพบคุณยาย จากนั้นคุณยายก็รับหลวงพ่อทัตตชีโวเป็นศิษย์อีกคนหนึ่ง และได้ชักชวนเพื่อนนิสิตทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง มาปฏิบัติธรรมกับคุณยายเป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ.2510 หลังจากนั้นไม่นาน มีคนมานั่งสมาธิกับคุณยายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวันอาทิตย์ต้นเดือน มีคนมานั่งสมาธิกันเต็มบ้าน บรรดาศิษยานุศิษย์จึงหารือกันเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ให้คุณยาย และรวบรวมเงินกันสร้างเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น อยู่ภายในบริเวณวัดปากน้ำทางด้านเหนือ ซึ่งพระภาวนาโกศลเถร (หลวงพ่อเล็ก) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำในขณะนั้น เมตตาตั้งชื่อให้ว่า “บ้านธรรมประสิทธิ์”

ปี พ.ศ.2511 บ้านธรรมประสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันอาทิตย์ต้นเดือน มีคนมาปฏิบัติธรรมกันจนเต็มบ้าน ตั้งแต่ชั้นบนเรื่อยลงมาถึงบันได ชั้นล่างเรื่อยไปจนถึงสนามหญ้าหน้าบ้านตลอดจนทางเดินไปถึงประตูรั้ว ทั่วบริเวณเนื่องแน่นไปด้วยผู้คนที่มาปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุนี้ประกอบกับความตั้งใจจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางตามที่หลวงปู่วัดปากน้ำได้มอบหมายไว้ คุณยายจึงมีดำริที่จะสร้างวัดขึ้น ต่อจากนั้นไม่นาน คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ได้ยกที่ดิน 196 ไร่ 9 ตารางวา ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นที่สร้างวัด ปี พ.ศ.2512

เดือนเมษายน พ.ศ.2512 หลวงพ่อธัมมชโยเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณยายเห็นว่าท่านมีความรู้ทางโลกอย่างที่กำหนดไว้แล้ว และควรที่จะมีความรู้ทางธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ จึงปรึกษาหารือกันว่า ควรจะบวชในพรรษานี้ เมื่อหลวงพ่อตกลงใจ ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2512 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 หลวงพ่อธัมมชโยจึงได้บวช ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพระเทพวรเวที (ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชฯ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีฉายาว่า “ธัมมชโย” แปลว่า “ผู้มีชัยชนะด้วยธรรมกาย”

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 คุณยายมอบหมายให้หลวงพ่อทัตตชีโว (ขณะนั้นยังมิได้บวช) ไปดูแลรักษาที่ดิน 196 ไร่ และดูแลการก่อสร้างวัด ส่วนหลวงพ่อธัมมชโยกับคุณยายทำหน้าที่บอกบุญสร้างวัด และสอนธรรมปฏิบัติอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ กองทุนเริ่มต้นในการสร้างวัดตอนนั้นมีเพียง 3,200 บาท

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2513 หลวงพ่อทัตตชีโวได้ตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์ ภายหลังการตั้งสัจจะแล้วท่านก็ยังคร่ำเคร่งอยู่กับการสร้างวัด โดยไม่คำนึงถึงเรื่องบวช คุณยายเป็นห่วงจึงเรียกมาตักเตือนและกำหนดให้บวช ท่านจึงได้บวชที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2514 และเมื่อบวชได้เพียงสัปดาห์เดียว คุณยายก็เริ่มฝึกให้เทศน์

ปี พ.ศ.2515 หลวงพ่อธัมมชโยมีดำริที่จะอบรมสั่งสอนธรรมะทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อมุ่งพัฒนาจิตใจอันเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไป นอกจากนี้คุณยายก็ยังมุ่งหวังว่า บุคคลกลุ่มนี้จะเป็นกำลังในการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ตามที่คุณยายได้รับปากหลวงปู่วัดปากน้ำไว้ ดังนั้น โครงการอบรมธรรมทายาท และอุปสมบทหมู่ จึงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2515 มีนิสิตนักศึกษาเข้าอบรมทั้งสิ้น 60 คน ท่ามกลางคูน้ำและคันดินที่เพิ่งถูกพลิกฟื้นขึ้นมา โดยยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ แม้แต่โรงทานหรือ ศาลาปฏิบัติธรรม ปี พ.ศ. 2513 – 2516 คุณยายอาศัยอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ หลวงพ่อธัมมชโยอยู่ที่วัดปากน้ำ วันธรรมดาจะสอนปฏิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์ วันเสาร์อาทิตย์จะไปช่วยดูแลการสร้างวัดในที่ดิน 196 ไร่ ตอนนั้นยังไม่เป็นวัด เรียกชื่อเป็น “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม”

ปี พ.ศ. 2516 หลังจากออกพรรษา พระภิกษุลูกศิษย์ของคุณยาย เฉพาะที่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างวัด ได้ย้ายจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาอยู่ที่ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม เป็นการถาวร คุณยายยังคงอยู่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ คอยเก็บรวบรวมเสบียงส่งมาให้

ปี พ.ศ. 2518 การดำเนินการสร้างวัดได้เสร็จสิ้นไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ มีศาลาสำหรับปฏิบัติธรรมและมีกุฏิให้อยู่กันได้แล้ว หลวงพ่อธัมมชโยและคุณยายจึงย้ายจากบ้านธรรมประสิทธิ์มาอยู่ที่ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมด้วย คุณยายได้ตั้งกฎระเบียบภายในวัดด้วยตนเองทั้งหมด โดยนำประสบการณ์ในสมัยที่ท่านอยู่กับหลวงปู่วัดปากน้ำมาใช้ และเนื่องจากวัดยังเพิ่งจะสร้างใหม่ๆ คุณยายจึงให้ข้อคิดว่า “พระเพิ่งบวชใหม่ การที่จะเทศน์อะไรให้ลึกซึ้ง คงยังทำกันไม่ได้ ที่พอจะทำได้ คือ เป็นต้นแบบดีๆให้ญาติโยมดู แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆก็ตาม... ให้จัดทุกอย่างในวัดให้เป็นระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการวางรองเท้า ไม้กวาด ผ้าขี้ริ้ว ถังขยะ ทุกอย่างในชีวิตประจำวันจัดให้เรียบร้อย ซึ่งนอกจากจะทำให้ใจเราเองสงบแล้ว แม้ญาติโยมมาวัดไม่ได้ฟังเทศน์ แต่ได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะได้เห็นแบบอย่างที่ดีและได้ความสบายใจกลับไป”

ปี พ.ศ.2524 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” มาเป็น “วัดพระธรรมกาย” ประมาณ ปี พ.ศ.2528 เมื่อมีคนมาปฏิบัติธรรมมากจนพื้นที่วัด 196 ไร่ ไม่เพียงพอที่จะรองรับ มูลนิธิธรรมกายจึงได้ซื้อที่ดินเนื้อที่ 2,000 ไร่ เศษ จากกองมรดกของ ม.ร.ว.สุวพันธ์ สนิทวงศ์ เพื่อจัดสร้างเป็นศูนย์กลางแห่งการปฏิบัติธรรม

ปี พ.ศ.2531 คุณยายเป็นประธานกฐินสามัคคีของวัดพระธรรมกายเป็นครั้งแรกในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ปี พ.ศ. 2537 หลวงพ่อธัมมชโย คุณยาย และคณะศิษยานุศิษย์ พร้อมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการหล่อรูปเหมือนหลวงปู่วัดปากน้ำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 1 ตัน ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537 โดยมีพระธรรมปัญญาบดี (ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานสงฆ์ประกอบพิธีเททอง

ปี พ.ศ.2538 – 2542 หลวงพ่อธัมมชโย คุณยาย และคณะศิษยานุศิษย์ เริ่มสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ในปี พ.ศ. 2538 จนกระทั่งวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2542 การประดิษฐานองค์พระธรรมกายภายนอกของมหาธรรมกายเจดีย์จึงเสร็จสมบูรณ์

ปี พ.ศ.2541 หลวงพ่อธัมมชโย และคณะศิษยานุศิษย์ พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ด้วยทองคำบริสุทธิ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2541 ปี พ.ศ.2541 – 2543 สุขภาพของคุณยายอ่อนแอลง และต้องการพักผ่อนมากขึ้น คุณยายจึงไม่สามารถออกมาต้อนรับและสอนศิษยานุศิษย์ได้ แต่กระนั้นท่านก็ยังออกมาดูความก้าวหน้าในการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์อยู่เป็นประจำ ปี พ.ศ.2543 คุณยายละสังขารด้วยโรคชรา ตอนเช้ามืดของวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2543 ณ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ กรุงเทพฯ รวมสิริอายุได้ 91 ปี

บทความที่เกี่ยวข้อง: