วันแม่ 12 สิงหาคม 2556 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันแม่ 12 สิงหาคม 2556

วันแม่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2556

คำขวัญวันแม่ประจำปี พ.ศ.2556

“คำโบราณว่าดูนางดูอย่างแม่ คือคำแปลว่าแม่ดีมีลูกเด่น จะชายหญิงรู้ชั่วดีมีกฎเกณฑ์ เพราะจัดเจนแบบอย่างในทางดี”

คำขวัญวันแม่ในปีที่ผ่านมา

  • ปี พ.ศ.2555: "มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้น ขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลา อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา อยู่ที่คอยขัดเกลา แต่เบามือ"
  • ปี พ.ศ.2554: "เพลงชาติไทยเตือนไทยไว้เช้าค่ำ ให้จดจำจารึกใจไว้ทุกส่วน จะดำรงคงไทยได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี"
  • ปี พ.ศ.2553: "แผ่นดินนี้แม่ของลูกใช้ปลูกข้าว กี่แสนก้าวที่เดินซ้ำย่ำหว่านไถ บำรุงดินจนอุดมสมดังใจ หวังนาไทยเป็นของไทยไปนิรันดร์"
  • ปี พ.ศ.2552: “แผ่นดินนี้ปู่ย่าตายายสร้าง เคยทอดร่างลงถมถิ่นแผ่นดินแม่ ขอลูกไทยรักษามั่นไม่ผันแปร เป็นไทยแท้มิใช่ไทยแต่ในนาม”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยกย่องผู้ที่เป็นบิดามารดาว่า “เป็นพระพรหม เป็นบูรพาจารย์ และเป็น อาหุไนยบุคคล1  เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงดู และแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย”

พระคุณของแม่ที่เด่นชัด ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ท่านพรรณนาไว้ 4 ประการ ดังนี้

1. "แม่เป็นพระพรหมของลูก" กล่าวคือ แม่มีคุณธรรมเหมือนกับพระพรหม ซึ่งเรียกว่า “พรหมวิหารธรรม” แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระพรหม มี 4 ประการ คือ

  • เมตตา – แม่ปรารถนาให้ลูกทุกคนมีความสุข ความเจริญ
  • กรุณา – แม่ปรารถนาให้ลูกผู้มีความทุกข์พ้นจากความทุกข์
  • มุทิตา – แม่จะแสดงความยินดีด้วยความจริงใจเมื่อลูกของตนได้ดีมีสุข
  • อุเบกขา – แม่จะไม่ขวนขวายกังวล ในเมื่อทราบว่าลูกของตนเติบใหญ่แล้วสามารถเลี้ยงตัวได้ หรือมีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานแล้ว

2. "แม่เป็นเทพองค์แรกของลูก" เพราะแม่เป็นผู้มีอุปาระต่อลูกของตนก่อนเทพเหล่าอื่น

เทพมี 3 ประเภท คือ

  • อุปปัตติเทพ ได้แก่ พวกที่เกิดเป็นเทดาโดยกำเนิด
  • สมมติเทพ ได้แก่ พระมหากษัตริย์
  • วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์สาวก

สำหรับ แม่ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็น วิสุทธิเทพ เพราะแม่จะไม่คำนึงถึงความผิดที่ลูกกระทำผิดต่อตน แม่จะให้อภัยเสมอ และหวังแต่เพียงความสุขความเจริญของลูก เหมือนดังเช่น วิสุทธิเทพ คือ พระอรหันต์ ที่ไม่คำนึงถึงความผิดที่พวกคนพาลประพฤติผิดในท่าน หวังแต่เพียงความเจริญแก่พวกเขาเท่านั้น

3. "แม่ คือ ครูคนแรกของลูก" สอนให้ลูกรู้สิ่งต่างๆ ตั้งแต่ยังเป็นทารกให้รู้จักสัมผัสนิ้วมือของแม่ ให้รู้จักได้ยินเสียงเป็นเบื้องต้น และเมื่อเติบโตขึ้นก็จะยังสอนว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ต่อมาครูบาอาจารย์อื่นๆ จึงสอนหรือให้การศึกษาตามลำดับ

4. "แม่เป็นบุคคลที่ลูกควรบูชา" เพราะแม่เป็นผู้มีอุปการคุณก่อน ต่อลูกทุกคน ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคล จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชา เพราะท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูง การบูชาพระอริยบุคคล ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติบูชา (บูชาด้วยการกระทำ) หรืออามิสบูชา (บูชาด้วยสิ่งของ) จึงมีผลมาก เมื่อแม่มีคุณสมบัติเป็นดังพระอรหันต์อยู่ในบ้านใกล้ตัวเราเช่นนี้ หากลูกต้องการที่จะได้บุญมาก ก็ควรบำรุงท่านให้มีความสุขกายสุขใจ โดยการไปหาท่าน ไปกราบเท้าท่าน ไปดูแลท่าน ไปให้กำลังใจแก่ท่าน

พระคุณของบิดามารดานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาไว้ ความว่า “...บุตรยกมารดาบิดาขึ้นวางไว้บนบ่าทั้งสองข้าง ปฏิบัติท่านทั้งสองด้วยการอบกลิ่น นวด อานน้ำ ท่านทั้งสองได้ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะอยู่บนบ่าบุตรนั้นตลอดร้อยปี แม้อย่างนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณของมารดาบิดาได้เลย... อีกประการหนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาไว้ในราชสมบัติในแผ่นดินใหญ่ มีแก้วเจ็ดประการ แม้อย่างนั้น ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า บุตรได้ตอบแทนคุณของมารดาบิดาได้เลย เพราะว่ามารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย...”

เมื่อพ่อแม่มีพระคุณยิ่งใหญ่ถึงปานนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกทุกคนควรแสดงความกตัญญู กตเวที ต่อท่านอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

  • กตัญญู คือ เห็นคุณท่าน เห็นด้วยปัญญาว่าพ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง
  • กตเวที คือ ประกาศคุณท่าน และตอบแทนคุณท่าน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ที่ได้ผลอย่างแท้จริง และถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา  ความว่า “...ส่วนบุตรคนใด ทำมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้มีศรัทธามั่นคง ทำมารดาบิดาผู้ทุศีล ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ทำมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้มีการบริจาคทานเป็นนิจ ทำมารดาบิดาผู้ไม่มีปัญญา ให้มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางที่ถูกต้องได้... ด้วยเหตุการตอบแทน 4 ประการนี้ ชื่อว่าบุตรได้ตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาแล้ว...”

 “วันแม่” 12 สิงหาคม คือ วันที่เราจะได้มารำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของแม่ เพื่อที่เราจะได้ทำหน้าที่ของลูกที่ดี และอย่าลืมว่า เราสามารถแสดงความกตัญญู กตเวที ต่อแม่ ได้ทุกวัน ตลอดปี และตลอดไป

****************************************

1 อาหุไนยบุคคล แปลว่า บุคคลผู้ควรแก่ของที่เขานำมาคำนับคือนำมาบูชา นำมาให้

  • อาหุไนยบุคคล หมายถึงผู้สมควรได้รับสิ่งของสำหรับบูชาซึ่งเป็นสิ่งของที่ดี ประณีตบรรจง และมีค่าหาได้ยาก โดยตรงหมายถึงพระอริยบุคคล 8 มีพระโสดาบัน เป็นต้น โดยอ้อมได้แก่พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระพุทธศาสนา
  • อาหุไนยบุคคล อีกความหมายหนึ่งหมายถึงบิดามารดา เพราะท่านทั้งสองได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ของบุตร เมื่อพระอรหันต์เป็น อาหุไนยบุคคล บิดามารดาจึงเป็นอาหุไนยบุคคลไปด้วย และเป็นผู้สมควรได้รับสิ่งของสำหรับบูชาจากบุตรธิดา การปรนนิบัติเลี้ยงดู การเกื้อกูลบิดามารดาจึงเท่ากับปรนนิบัติเลี้ยงดูพระอรหันต์

จากหนังสือ "คำวัด" โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ปใธใ9 ราชบัณฑิต)

บทความอื่นๆในหมวดนี้