พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเสด็จอุบัติโดยธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเสด็จอุบัติโดยธรรมกาย

พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเสด็จอุบัติโดยธรรมกาย

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

ในขุททกนิกาย เถรคาถา (๒๖/๓๖๕/๓๔๐) ท่านพระสรภังคเถระ กล่าวว่า วีตตณฺหา อนาทานา สตฺต พุทฺธา ขโยคธา เยหายํ เทสิโต ธมฺโม ธมฺมภูเตหิ ตาทิภิ.

แปลว่า : พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์นี้ ทรงปราศจากตัณหา ไม่ทรงถือมั่น ทรงหยั่งถึงความสิ้นกิเลส เสด็จอุบัติโดยธรรมกาย ผู้คงที่ (คำแปลภาษาไทยฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๕๒ หน้า ๒๖๙) ใน คัมภีร์อรรถกถา ขุททกนิกาย สรภังคเถรคาถา ชื่อ ปรมัตถทีปนี ภาค ๒ เล่ม ๓๒ ข้อ ๔๙๓ หน้า ๑๕๘ - ๑๕๙ พระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวแก้ไว้ว่า

ธมฺมภูเตหีติ ธมฺมกายตาย ธมฺมสภาเวหิ นวโลกุตฺตรธมฺมโต วา ภูเตหิ ชาเตหิ ธมฺมํ วา ปตฺเตหิ ฯ เป ฯ ยสฺมินฺติ ยสฺมึ นิโรเธ นิพฺพาเน อธิคเต. นิวตฺตเตติ อริยมคฺคภาวนาย สติ อนนฺตกํ อปริยนฺตํ อิมสฺมึ สํสาเร ชาติอาทิทุกฺขํ น ปวตฺตติ อุจฺฉิชฺชติ,โส นิโรโธติ อยํ ธมฺมภูเตหิ สมฺมาสมฺพุทฺเธหิ เทสิโต ธมฺโมติ โยชนา ฯ

บทว่า ธมฺมภูเตหิ ได้แก่ มีธรรมเป็นสภาวะ เพราะเป็นธรรมกาย คือ เกิดจากโลกุตตรธรรม ๙ หรือบรรลุธรรม ฯ ลฯ บทว่า ยสฺมึ ความว่า เมื่อบรรลุนิโรธ คือ พระนิพพานใด. บทว่า นิวตฺตเต มีวาจาประกอบความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีธรรมกาย ทรงแสดงธรรมนี้ว่า เมื่ออริยมรรคภาวนามีอยู่ ทุกข์มีชาติเป็นต้น อันหาที่สุดมิได้ คือไม่มีที่สุด ย่อมไม่เป็นไปในสงสารนี้ คือย่อมขาดสูญ ความที่ทุกข์ขาดสูญนั้น เป็นนิโรธ ฯ

อธิบายความว่า : ท่านพระสรภังคะเถระได้พยากรณ์การบรรลุพระอรหัตของตน ที่ได้ดำเนินตามหนทางที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ผู้ทรงบรรลุคือเข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นการเสด็จอุบัติคือเข้าถึงความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ด้วยอริยมรรคภาวนาคือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น จึงได้กล่าวคาถานี้ไว้ สมจริงดังคำที่พระฎีกาจารย์กล่าวไว้ในคัมภีร์วินัยฎีกา ชื่อ สารัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๑๕๔ หน้า ๓๒๖ ว่า

ปฐมํ ลุมฺพินีวเน ทุติยํ โพธิมณฺเฑติ ลุมฺพินีวเน รูปกาเยน ชาโต, โพธิมณฺเฑ ธมฺมกาเยนฯ เอวมาทินาติ อาทิสทฺเทน เวรญฺชากิตฺตนโต รูปกายสฺส อนุคฺคณฺหนํ ทสฺเสติ, นเฬรุปุจิมนฺทมูลกิตฺตนโต ธมฺมกายสฺสฯ

แปลว่า : ข้อว่า ปฐมํ ลุมฺพินีวเน ทุติยํ โพธิมณฺเฑ ความว่า พระพุทธเจ้า ทรงเสด็จอุบัติด้วยรูปกายที่สวนลุมพินี, เสด็จอุบัติด้วย พระธรรมกาย ที่ควงต้นโพธิ์. ด้วยอาทิศัพท์ว่า เอวมาทินา ท่านอาจารย์ย่อมสงเคราะห์คำมีอาทิอย่างนี้ว่า ท่านพระอุบาลีแสดงการอนุเคราะห์พระรูปกายด้วยคำระบุว่า เวรัญชา แสดงการอนุเคราะห์ ธรรมกาย โดยคำระบุว่า นเฬรุปุจิมันทมูละ.

อธิบายความว่า: พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถาปฐมสมันตปาสาทิกาว่า "ด้วยคำระบุหลัง (คำว่า นเฬรุปุจิมันทมูเล) แสดงถึงความอยู่สมควรแก่สถานที่เสด็จอุบัติ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติในป่าเท่านั้น ด้วยความอุบัติทั้งที่เป็นโลกิยะ (รูปกาย) และโลกุตระ (ธรรมกาย) คือ ครั้งแรกที่ลุมพินีวัน (โดย รูปกาย) ครั้งที่สองที่โพธิมณฑล (โดย ธรรมกาย) " เพราะเหตุนั้นพระฎีกาจารย์จึงได้กล่าวแก้ไว้ดังข้างต้น เป็นความจริงที่ว่า เพียงรูปกายอย่างเดียว แม้ทรงไว้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เป็นต้น ก็ยังไม่ใช่เป็นเครื่องยืนยันความเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะเหตุนั้น พระฎีกาจารย์จึงได้กล่าวว่า ทรงเสด็จอุบัติด้วย ธรรมกาย ที่ควงต้นโพธิ์ จึงเป็นอันเปลี่ยนภาวะเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นภาวะปุถุโคตร เป็นพุทธภาวะคืออริยะโคตร สำเร็จความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ใน โทณสูตร อังคุตรนิกาย จตุกกนิบาต (๒๑/๓๖/๔๔) ว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จแวะไปประทับอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้จำเพาะหน้า โทณพราหมณ์เดินตามรอยพระบาทไป พบพระองค์ ดูผุดผ่อง น่าเลื่อมใส อินทรีย์สงบ มีพระทัยอันสงบ ได้รับการฝึกฝนและความสงบอย่างยอดเยี่ยม ฯลฯ เป็นผู้ประเสริฐ ครั้นแล้วจึงเข้าไปใกล้แล้วทูลถามว่า ท่านผู้เจริญเป็นเทวดา หรือ. พ. ตรัสตอบว่า เราไม่ใช่เป็นเทวดา หรอกพราหมณ์. โทณ. เป็นคนธรรพ์หรือ พ. ไม่ใช่. โทณ. เป็นยักษ์กระมัง. พ. ไม่ใช่. โทณ. เป็นมนุษย์ละสิหนอ. พ. ไม่ใช่. โทณ. ข้าพเจ้าถามว่า ท่านเป็นเทวดา...เป็นคนธรรพ์....เป็นยักษ์....เป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่า ไม่ใช่ๆ ๆ ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นใครกันแน่. พ. พราหมณ์ เราจะพึงเป็นเทวดา....เป็นคนธรรพ์....เป็นยักษ์....เป็นมนุษย์ เพราะอาสวะเหล่าใดที่เราละไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว มีมูลอันขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี่แนะพราหมณ์ ดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอกบุณฑริกก็ดี เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ แต่ขึ้นมาตั้งอยู่พ้นน้ำ น้ำไม่กำซาบเข้าไปได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น เกิดในโลก เติบใหญ่มาในโลก แต่เราอยู่เหนือโลก โลกไม่เข้ามากำซาบ(ใจเรา) ได้ แนะพราหมณ์ ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็นพุทธะ.

อธิบายความว่า: พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธความเป็นเทวดาเป็นต้น ซึ่งเป็นกายโลกียอันถูกกิเลสปรุงแต่งอยู่ อันบุคคลอาจเห็นได้ แล้วทรงประกาศความเป็นพุทธะภายใน คือการเสด็จอุบัติด้วย ธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่ใช้ตรัสรู้ธรรม ละอาสวะเหล่านั้นได้ ด้วยการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิบัลลังก์ ที่โคนต้นโพธิ์ จึงได้ตรัสกับโทณพราหมณ์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นปุถุชน ไม่รู้จักความเป็นพุทธภาวะ คือ ธรรมกายภายในว่า "แนะพราหมณ์ ท่านจงจำเราไว้ว่า เป็นพุทธะ ดังนี้. ข้อว่า แสดงการอนุเคราะห์ ธรรมกาย โดยคำระบุว่า นเฬรุปุจิมันทมูละ ดังนี้ ท่านกล่าวไว้แสดงถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงน้อมไปเพื่อวิเวก ด้วยอรหัตมรรคสมาธิในธรรมกาย อันเป็นความสงบอย่างสูงสุด ดังนี้เป็นต้น

ข้อที่น่าสังเกต: พระอรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวแก้คำว่า "ธรรมภูต" เป็น "ธรรมกาย" ซึ่งมีความหมายเป็นอันเดียวกัน นั่นก็หมายความว่า เมื่อพบคำว่า ธรรมภูต ที่ใช้เป็นคำกล่าวแสดงคุณของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และอริยสาวก เป็นต้น ณ ที่ใด บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นคำใช้แทนคำว่า ธรรมกาย ณ ที่นั้น ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาก็มีกล่าวไว้มากแห่งด้วยกัน ดังพระมหากัจจายนะเถระกล่าวไว้ว่า (ม.มู. ๑๒/๒๔๗/๒๒๕) ว่า โส หาวุโส ภควา ชานํ ชานาติ ปสฺสํ ปสฺสติ จกฺขุภูโต ญาณภูโต ธมฺมภูโต พฺรหฺมภูโต.....ธมฺมสามิ ตถาคโต ....แปลว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ เป็นธรรม (ธรรมกาย) เป็นผู้ประเสริฐ....เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต...ดังนี้เป็นต้น นอกจากนั้นท่านยังขยายความว่า คำว่า "ธรรมภูต" หรือ "ธรรมกาย" เป็นคำกล่าวแสดงภาวะของการบรรลุธรรม ดังในที่นี้ใช้คำว่า ธมฺมํ ปตฺเตหิ เป็นต้น ซึ่งก็ได้แก่การบรรลุหรือเข้าถึงธรรมกายนั่นเอง แต่สมัยนั้นใช้กล่าวย่อๆ ว่า บรรลุธรรม ซึ่งคนมีปัญญาจักขุสมัยนั้น ฟังแล้วก็เข้าใจได้ทันทีว่า หมายถึง การบรรลุธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่ใช้ในการตรัสรู้ธรรม และก็มีกล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและอริยสาวกตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้น บรรลุธรรม อันเป็นการเปลี่ยนภาวะจากปุถุโคตร เป็นพุทธภาวะอย่างแท้จริง ไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามากแห่งด้วยกัน ดังใน วินัยมหาวรรค ภาค ๑ (๔/๑๘/๒๓) ว่า

อถโข อายสฺมา อญฺญาโกณฺฑญฺโญ ทิฏฺฐธมฺโม ปตฺตธมฺโม วิทิตธมฺโม...แปลว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว... ส่วนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า "ธมฺโม อธิคโต"

ซึ่งก็มีความหมายเดียวกัน ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน ปฐมอายาจนสูตร (สํ.สคา. ๑๕/๕๕๕/๒๐๐) ว่า

"เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา....ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ ... อธิคโต โข มฺยายํ ธมฺโม คมฺภีโร ...

แปลว่า : ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค...ทรงตรัสรู้ครั้งแรก ทรงพระดำริรอบคอบว่า พระธรรมที่เราบรรลุนี้แล ลุ่มลึก เห็นได้ยากดังนี้เป็นต้น ซึ่งใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค (๓๑/๔๕๐/๓๓๒) ท่านก็กล่าวว่า ปตฺโต วาติ อธิคโต ฯ แปลว่า บทว่า ปตฺโต แปลว่า อธิคโต (ถึงหรือบรรลุคือเป็นอันเดียวกันได้) ดังนั้น เมื่อพบข้อความที่กล่าวถึง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปบรรลุธรรมแล้ว บัณฑิตผู้มีปรีชาญาณทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่า ท่านหมายถึง การบรรลุธรรมกายก่อน แล้วอาศัยธรรมกายตรัสรู้ธรรม โดยนัยนี้ส่วนหนึ่งเถิด เพราะเหตุนั้น พระฎีกาจารย์ จึงกล่าวไว้ดังข้างต้นว่า "โพธิมณฺเฑ ธมฺมกาเยน (ชาโต )ฯ พระผู้มีพระภาค ทรงเสด็จอุบัติโดย พระธรรมกาย (อันเป็นกายตรัสรู้ธรรม) ณ โคนต้นโพธิ์ อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ครั้งแรก" ดังพรรณนามาฉะนี้แล ฯ

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้