หลวงปู่วัดปากน้ำกับการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

หลวงปู่วัดปากน้ำกับการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย

ญาณแห่งธรรมกาย

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

หลวงพ่อวัดปากน้ำมีวาทะตรงกับใจ เมื่อจะพูดอะไรก็พูดโดยไม่สะทกสะท้านและไม่กลัวคำติเตียนด้วย เช่นครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเรื่องนี้ได้มาฉันเพลที่วัดปากน้ำ วันนั้นมีประชาชนมาก ร่วมใจถวายทานแด่พระภิกษุสามเณรทั้งวัดเป็นกรณีพิเศษ เมื่อทายกประเคนอาหารเรียบร้อยแล้ว มีพ่อค้าตลาดสำเพ็งผู้มั่งคั่งคนหนึ่งไปกราบและถามว่า “หลวงพ่อขอรับ วันนี้จะมีผู้บริจาคสร้างกุฏิเพื่อเจริญพระกัมมัฏฐานบ้างไหม” ชาวบ้านไม่น้อยกว่า 20 คนที่นั่งใกล้ๆได้ยินคำถามนั้น คิดว่าคงตั้งใจฟังคำตอบของหลวงพ่อต่างทอดสายตามองหลวงพ่อเพื่อฟังคำตอบ

เวลานั้น ข้าพเจ้าผู้เขียนมีทั้งโกรธผู้ถาม ทั้งหนักใจแทนหลวงพ่อ และได้มองหน้าผู้ตอบ หลวงพ่อมีดวงหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หลับตาสัก 5 นาที ครั้นแล้วตอบทันทีว่า “มี” ผู้ถามได้ถามย้ำต่อไปว่า “กี่หลัง” ตอบว่า “2-3 หลัง” และย้ำอีกว่า “ต้องได้แน่”

เวลานั้น ผู้เขียนฉันภัตตาหารไม่มีรส โกรธผู้ถามว่า ช่างไม่มีอัธยาศัย คำถามเช่นนั้น เท่ากับเอาโคลนมาสาดรดหลวงพ่อ เมื่อต้องการทราบ ควรถามเฉพาะสองต่อสอง และโกรธหลวงพ่อว่า ช่างไม่มีปัญญาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คิดว่าทำไมนะ หลวงพ่อจึงไม่พูดว่า เวลานี้ยังไม่เป็นโอกาสที่จะพยากรณ์คำถามนั้น ที่ตอบออกไปว่า 2-3 หลังนั้น หมิ่นต่ออันตรายมากนัก อาจเป็นคำพูดที่ฆ่าตนเองได้ ดาบของตนฆ่าตนเอง เวลานั้นก็เอาใจช่วยหลวงพ่อขอให้มีผู้บริจาคจริงๆเถิด เสร็จจากฉันของหวานแล้ว คำพยากรณ์ของหลวงพ่อก็ยังไม่ปรากฏเป็นความจริงขึ้น ผู้เขียนเรื่องนี้นั่งอยู่ด้วยความอึดอัดใจ นึกตำหนิท่านว่า ไม่รอบคอบพอ

ได้เวลาอนุโมทนา มีคณะอุบาสกอุบาสิกากลุ่มหนึ่งเข้ามากราบหลวงพ่อ บอกว่าศรัทธาจะสร้างกุฏิเล็กๆอย่างที่หลวงพ่อสร้างไว้แล้วสัก 2-3 หลัง ประมาณราคา 3-4 ร้อยบาทต่อหนึ่งหลัง ขอให้หลวงพ่อช่วยจัดการให้ด้วย ตอนนี้หลวงพ่อไม่หัวเราะ ยิ้มน้อยๆ พอสมควรแก่กาละ ครั้นแล้วหลวงพ่อเรียกตัวผู้ถามมาบอกว่า “ได้แล้วกุฏิกัมมัฏฐาน 3 หลัง เจ้าของนั่งอยู่นี่” แล้วท่านชี้มือไปยังเจ้าภาพผู้บริจาค ผู้ถามได้กระโดดเข้าไปกราบที่ตักหลวงพ่อพูดว่า “ยิ่งกว่าตาเห็น” ผู้เขียนดีใจจนเหงื่อแตกที่ความจริงมากู้เกียรติของหลวงพ่อไว้ได้

เกรงว่าจะเป็นลูกไม้ จึงหาโอกาสสนทนากับผู้บริจาคว่านัดกับหลวงพ่อไว้หรือว่าจะสร้างกุฏิถวาย ได้รับคำตอบว่า พึ่งคิดเมื่อมาทำบุญวันนี้เอง เดินมาเห็นกุฏิเล็กๆสวยดี อยากจะสร้างบ้าง แต่ทุนไม่พอ จึงปรึกษากับพวกพ้องที่บังเอิญมาพบกันวันนี้เห็นดีร่วมกัน จึงได้มอบเงินแก่หลวงพ่อให้จัดการสร้างต่อไป นี่เป็นเรื่องก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วม 20 ปี

เมื่ออุบาสกอุบาสิกากลับหมดแล้ว ผู้เขียนจึงได้พูดกับหลวงพ่อต่อไป เบื้องต้นยกย่องว่า หลวงพ่อพยากรณ์แม่นเหมือนตาเห็น แต่น่ากลัวอันตราย ไม่ควรตอบในเวลานั้น ควรจะบอกเฉพาะตัวหรือสองต่อสอง หลวงพ่อถามว่าอันตรายอย่างไร จึงเรียนท่านว่า ถ้าไม่เป็นความจริงดังคำพยากรณ์ ชาวบ้านจะเสื่อมศรัทธา หลวงพ่อพูดว่า “เรามันเซอะ พระพุทธศาสนาเก๊ได้หรือ ธรรมของพระพุทธเจ้าต้องจริง ธรรมกายไม่เคยหลอกลวงใคร” เมื่อได้ยินดังนั้นก็จำต้องนิ่ง และไม่คิดจะถามความเห็นอะไรต่อไป ที่นำมาเขียนไว้นี้เพื่อจะแสดงว่า ญาณของหลวงพ่อให้ความรู้แก่หลวงพ่ออย่างไรในวิถีของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงพ่อต้องพูดอย่างนั้น ถ้าญาณไม่แสดงออกจะเอาอะไรมาพูด

ถูกโจมตี

คำว่า “ธรรมกาย” นั้น ยังไม่ได้ยินใครนำมาพูดเลยในประเทศไทย ที่เขียนอย่างนี้ หมายความว่ายังไม่มีใครนำออกแสดงเป็นหลักปฏิบัติทางพระกรรมฐาน มีองค์เดียวเท่านั้นที่นำคำว่า “ธรรมกาย” มาใช้สอนพุทธบริษัท ท่านผู้นั้นคือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

คำว่า “ธรรมกาย” นั้น พระคุณท่านไม่ได้บัญญัติขึ้นเอง แต่หากท่านปฏิบัติธรรมได้มาแล้ว ซึ่งตรงกับคำที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย เมื่อท่านค้นคว้าได้มา บังเอิญไปตรงกับพระไตรปิฎกเข้า จึงเป็นเรื่องที่ท่านภูมิใจและมั่นใจว่า ของจริงมีจริง และมีอยู่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ของจริงนั้น บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงเท่านั้น มิใช่จะเกิดขึ้นเพราะความคิดนึกและความปรารถนา

เมื่อคำว่า “ธรรมกาย” แพร่หลายออกไป ถึงกับเข้าหูท่านผู้เป็นนักปราชญ์มหาบัณฑิต ทำความฉงนสนเท่ห์ให้เกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์ บางท่านก็ปลงใจเอาว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำมีความรู้และการปฏิบัติธรรมเกินธงเสียแล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นภัยแก่ศาสนา แต่ยังไม่มีใครกล้าจะยกความผิดขึ้นมาพิจารณา เพราะเวลานั้น คนทุกชั้นถวายความเคารพนับถือว่าเป็นคณาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มาก ทั้งสามารถปกครองพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนหลายร้อยรูป มิใช่เพียงแต่ปกครองเปล่า ได้จัดการเลี้ยงอาหารเช้าและเพลถวายแก่พระภิกษุสามเณรตลอดปี และตลอดอายุของท่าน นับแต่เริ่มจัดการเลี้ยงพระภิกษุสามเณรมา

หลวงปู่วัดปากน้ำ

เมื่อธรรมกายเกิดขึ้น วัดปากน้ำได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก บางพวกก็ปลื้มใจ บางพวกก็หนักใจ บางพวกก็ตั้งขอกล่าวหาลงโทษวัดปากน้ำอย่างหนัก ถึงกับพูดว่าอุตริมนุสธรรมก็มี ข่าวนี้มิใช่ท่านจะไม่รู้ ท่านได้ยินเสมอๆ แต่เสียงนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจแก่ท่านแม้แต่เล็กน้อย ท่านกลับภูมิใจเสียอีกที่ได้ยินได้ฟังคำเช่นนั้น

ผู้เขียนได้เคยปรารภเรื่องนี้กับเจ้าคุณวัดปากน้ำ แสดงความหนักใจให้ท่านเห็น ท่านกลับพูดว่า “คนเช่นเราไม่ใช่ไร้ปัญญา ชั่วก็รู้ ดีก็เห็น เราจะฆ่าตัวเราเองเพราะความปรารถนาลาลกทำไม ที่เขาพูดหาว่าเราอย่างนั้น บางคนคงจะไม่รู้จักคำว่า ธรรมกาย มีอยู่ที่ไหน หมายเอาใคร เขาอาศัยความไม่รู้มาว่าเราผู้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อผู้ไม่รู้มาติเตียนเรา ความไม่รู้ของเขาจะลบล้างสัจธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ถ้าจะกลบก็กลบได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าดวงแก้วของพระพุทธศาสนาก็จะเปล่งรัศมีให้ผู้มีปัญญาเห็นด้วยสายตาของตนเอง การที่เขานำไปพูดเช่นนั้น เป็นผลแห่งการปฏิบัติที่เราได้กระทำกันอยู่ แสดงให้เห็นว่าคณะวัดปากน้ำไม่ได้กินแล้วนอน เป็นสำนักที่เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม การที่เขานำไปพูดเช่นนั้น เท่ากับเอาสำนักเราไปเผยแพร่ ดีเสียกว่าการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ เพราะการที่เขานำไปพูดเช่นนั้นเป็นการกระทำของผู้พูดเอง เราไม่ได้จ้างไม่ได้วานใคร เมื่อพูดทางไม่ดีได้ก็ต้องมีคนพูดทางดีได้เหมือนกัน ธรรมจะต้องชนะอธรรมเสมอ เราไม่ต้องเดือดร้อนใจ เพราะธรรมกายของพระพุทธศาสนาเป็นของแท้ ไม่ใช่ของเก๊หรือของเทียม ธรรมกายจะปรากฏเป็นความจริงแก่ผู้เข้าถึงธรรม เรื่องอย่างนี้เราไม่หวั่น เราเชื่อในคุณพระพุทธศาสนา"

ที่ประชุมลับ

เมื่อคราว อุบาสิกาท้วม หุตานุกรม หัวหน้าอุบาสิกาสมัยเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนียังมีชีวิตอยู่ ได้ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ผู้เขียนได้พบพระเถระรูปหนึ่งมาในการบำเพ็ญกุศลนี้ด้วย ท่านรูปนี้คุ้นเคยและชอบพอกับผู้เขียนมาก ผู้เขียนชอบเรียกนามเดิมของท่าน พระเถระรูปนี้กลับพูดว่า “กระผมพอใจที่ใต้เท้าเรียกอย่างนั้น ผมรู้สึกว่าใต้เท้าให้ความสนิทสนมแก่กระผมผู้น้อยอย่างใจจริง ใต้เท้าเรียกนามเดิมของกระผม กลับภูมิใจว่าใต้เท้าเอ็นดูในกระผมมาก ไม่คำนึงถึงว่าเป็นคำดูหมิ่นดูแคลน” เรายังนึกชอบใจในอัธยาศัยอันงามของท่านผู้นี้ เพราะไม่เคยคิดและไม่เคยเห็น ทั้งไม่เคยทราบมาก่อนว่าพระเถระรูปนี้เคยมาติดต่อกับวัดปากน้ำ จึงได้ถามเพื่อทราบความจริงว่า เจ้าคุณเคยรู้จักกับหลวงพ่อวัดปากน้ำและเคยมาเสมอหรือ ได้รับคำตอบอย่างนิ่มนวลว่า เมื่อเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนียังมีชีวิตอยู่และก่อนมรณภาพหลายปี เคยมาติดต่อกับท่าน เหตุที่มานั้นพระเถระรูปนี้เล่าว่าการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำแพร่หลายไปในหมู่คนทุกชั้น มีทั้งติทั้งชม เป็นแนวทางสอนที่แตกหัก ทั้งน่าเคารพและน่ากลัว ท่านผู้รู้วิจารณ์ในแง่ต่างๆ บางท่านก็สนเท่ห์ว่า ธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำมีผู้ปฏิบัติถึงกันมาก จะเป็นแผนการลวงประชาชนของผู้มีความปรารถนาอันลามก ถึงมีการประชุมลับกันในพระเถระผู้ใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในพระกรรมฐาน ส่วนมากลงความเห็นหนักไปในการละเมิดพระวินัย เข้าขั้นอุตริมนุสธรรม ยกโทษสูงถึงเพียงนั้น ท่วงทีก็หาทางจะคว่ำบาตรเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี

หลวงปู่วัดปากน้ำ

พระเถระรูปนี้ คือ องค์ที่ผู้เขียนกล่าวถึงได้รับเกียรติเข้าประชุมอยู่ด้วย ท่านผู้นี้พูดว่าอันอุตริมนุสธรรมนี้เป็นเป็นคำที่แปลว่าเป็นธรรมของมนุษย์ อันยอดยิ่ง คือ เป็นธรรมชั้นสูงสุดของมนุษย์ ทางพระพุทธศาสนา เมื่อใครผู้ใดเข้าถึงแล้วย่อมข้ามโอฆะทั้งมวลถึงฝั่งพระนิพพานอันไม่มีภพชาติสืบต่อไป แต่ผู้จะเข้าถึงอุตริมนุสธรรมต้องเป็นคนมีบารมีธรรมสูง มีความเพียรมาก งามทั้งปริยัติ ปฏิบัติ งามทั้งสีลาจารวัตร ต้องมีสัจธรรมประจำสันดาน ไม่ใช่วิสัยของคนพอดีพอร้าย ต้องเป็นคนใจกล้า เสียสละ มีเมตตาธรรมสูง เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ เป็นคณาจารย์กล้าพูดกล้าสอน ไม่มีความครั่นคร้ามต่อใครผู้ใด เมื่อเห็นดีอย่างไรก็ปฏิบัติตามความเห็น น่าจะมีความบริสุทธิ์ใจตามความรู้ความเห็น

แม้พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงประกาศสัจธรรมก็ตรัสแก่เบญจวัคคีย์ว่า “เมื่อญาณทัศนะยังไม่บริสุทธิ์ตราบใด เราก็ไม่อาจจะปฏิญาณความเป็นพระสัมพุทธะแก่สมณพราหมณ์ ประชาชน แก่เทวดาและมนุษย์โลก กับทั้งเทวดาโลก มารโลก พรหมโลกได้” ที่พระองค์ทรงกล้าปฏิญาณได้ ก็เพราะได้ญาณทัศนะ รู้ความจริงแล้ว นี่เป็นข้อความที่จำต้องคำนึงถึงเป็นบทมาติกาก่อน

เจ้าคุณวัดปากน้ำ ตามเสียงพูดกันว่า มีเมตตาธรรมสูง มีสังคหธรรมยอดเยี่ยม กล้าพูดว่าได้ธรรมกาย กล้าเอาธรรมกายมา สอน ให้การศึกษาทั้งทางปริยัติทั้งทางปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรในวัดปากน้ำไม่น้อยกว่า 300 รูป สอบนักธรรมและบาลีในสนามหลวงได้จำนวนตั้ง 100 ลองคิดตรึกตรองดูบ้างว่า ในประเทศไทยวัดไหนทำประโยชน์ศาสนาถึงขนาดนี้ อันการปฏิบัติธรรมเข้าถึงหลุดพ้นนั้น ท่านก็วางไว้ถึง 3 ขั้น คือ

  1. ตทังควิมุตติ (หลุดพ้นชั่วคราว ด้วยการดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ)
  2. วินัมภนวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยการข่มไว้ คือ การดับกิเลสของผู้บำเพ็ญฌาณ)
  3. สมุจเฉทวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยการตัดขาด คือ ดับกิเลสอย่างสิ้นเชิงด้วยโลกุตรมรรค)

เจ้าคุณวัดปากน้ำจะเข้าขั้นไหนเราก็ยังไม่ทราบ แต่ก็ควรคิดไว้ก่อนว่า สำนักวัดปากน้ำสอนมานาน พูดมานานแล้ว ธรรมวัดปากน้ำก็ยังไม่เสื่อม มีแต่เพิ่มผู้ปฏิบัติยิ่งขึ้น ท่านยังตั้งเจตนาว่าจะรับพระภิกษุสามเณรให้เข้าศึกษากันถึง 500 องค์ เฉพาะวัดปากน้ำ ลักษณะนี้น่าจะมีอะไรดีอยู่มาก ถ้าเป็นเจตนาลวงโลกคงอยู่ไม่ได้ถึงเพียงนี้ เท่าที่เคยพบมาพระอาจารย์ลามกอยู่ได้เพียง 5-6 ปี ก็สาบสูญไป แต่วัดปากน้ำสู้หน้าโลกอยู่ได้โดยไม่ตกต่ำก็น่าจะมีอะไรดีเป็นหลักประกันอยู่มาก พวกเราที่มาพิจารณาโทษของวัดปากน้ำทั้งหมดนี้ ความจริงก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางพระกรรมฐานมากนัก รู้พอรักษาตัวได้ ความรู้ทางธรรมปฏิบัติก็มีความลุ่มลึกสุขุมแตกต่างกัน แม้ขั้นพระอรหันต์ก็ยังต่างกันโดยคุณสมบัติ อุตริมนุสธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติพึงได้พึงถึง ต้องสามารถดำเนินปฏิปทาทางจิต มีวิริยะอุตสาหะอย่างอุกฤษฏ์ พวกเรายังปฏิบัติไม่เข้าขั้นเช่นนี้ จะไปลงโทษผู้เชี่ยวชาญในพระกรรมฐานได้อย่างไร เอาความรู้อะไรไปลงโทษเขา

ที่ประชุมยอมรับความเห็นนั้น และให้พระเถระรูปนี้มาสอบสวนเป็นความลับ และท่านมาในฐานะเป็นผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม ในที่สุดเรื่องร้ายก็ไม่เกิดขึ้น และไม่ถูกสงสัยในแง่อุตริมนุสธรรมอีกต่อไป การเป็นดังนี้เท่ากับว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำรอดตัวได้ด้วย “อานุภาพธรรมกาย

บทความอื่นๆในหมวดนี้